ชื่อหลักสูตร
ภาษาไทย: หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารยุคดิจิทัล
ภาษาอังกฤษ: Bachelor of Arts Program in English for Communication in Digital Age
ชื่อปริญญาและสาขาวิชา
ชื่อเต็ม (ไทย): ศิลปศาสตรบัณฑิต (ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารยุคดิจิทัล)
ชื่อย่อ (ไทย): ศศ.บ. (ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารยุคดิจิทัล)
ชื่อเต็ม (อังกฤษ): Bachelor of Arts Program in English for Communication in Digital Age
ชื่อย่อ (อังกฤษ): B.A. (English for Communication in Digital Age)
รูปแบบหลักสูตร: หลักสูตรระดับปริญญาตรี หลักสูตร 4 ปี
ภาษาที่ใช้: ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ
จำนวนหน่วยกิตที่เรียนตลอดหลักสูตร 125 หน่วยกิต
ที่มาและความสำคัญของหลักสูตร
ในปัจจุบันเทคโนโลยีมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วและมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากต่อการพัฒนาและขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม อีกทั้งภาคอุตสาหกรรมทั้งภายในประเทศและต่างประเทศต่างก็มีการเติบโตและขยายตัวอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังมีการรวมตัวกันของกลุ่มประเทศอาเซียนโดยกำหนดเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2558 ซึ่งจะส่งผลต่อการเคลื่อนย้ายแรงงาน นักศึกษา และบุคลากรทางการศึกษาได้สะดวกขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อความต้องการบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถทางภาษาอังกฤษ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษเฉพาะทาง ภาษาของประเทศสมาชิกอาเซียน และเทคโนโลยีดิจิทัล สำหรับภาคอุตสาหกรรมที่มีการขยายตัวสูงขึ้น
ดังนั้น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการผลิตบัณฑิตเพื่อรองรับการทำงานในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม จึงจัดตั้งหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารยุคดิจิทัล โดยมีการจัดการเรียนการสอนที่เน้นการพัฒนาความรู้ด้านภาษาควบคู่ไปกับความรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และธุรกิจดิจิทัล โดยมุ่งเน้นการพัฒนานักศึกษาในด้านต่าง ๆ ดังนี้
ด้านภาษา
1. พัฒนาความรู้พื้นฐานภาษาอังกฤษ เพราะเป็นรากฐานในการต่อยอดการเรียนรู้ในระดับที่สูงขึ้น
2. พัฒนาทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษทั้ง 4 ด้าน คือ ฟัง พูด อ่าน และเขียน
3. พัฒนาภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารเฉพาะทาง เพื่อให้สามารถเป็นคนกลางในการสื่อสารงานด้านต่างๆระหว่างองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ
4. พัฒนาทักษะภาษาอังกฤษเฉพาะด้าน คือ การแปลและการล่าม เพื่อเพิ่มโอกาสและประสิทธิภาพในการทำงาน
5. พัฒนาทักษะภาษาอาเซียน 1 ภาษา เพื่อเพิ่มโอกาสในการสื่อสารและรองรับขยายตัวของธุรกิจในเอเชีย
ด้านธุรกิจดิจิทัลและเทคโนโลยีดิจิทัล
1. พัฒนาความรู้พื้นฐานในการทำธุรกิจ การตลาด และธุรกิจดิจิทัล
2. พัฒนาความรู้พื้นฐานด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ในระดับที่ใช้งานได้ และมีความรู้ ความเข้าใจที่เพียงพอสำหรับการสื่อสารระดับสากล
ด้านทักษะการทำงานและนำเสนองาน
1. เพิ่มพูนทักษะและประสบการณ์การทำงานจริงให้แก่นักศึกษา โดยมีการเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ฝึกประสบการณ์จริงปีการศึกษาละ 1 ครั้ง ทั้งหน่วยงานภายในหรือภายนอกประเทศ
2. พัฒนาทักษะการนำเสนองานให้แก่นักศึกษา โดยเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ทำโครงการและนำเสนอโครงการของตนเองต่อหน้าบุคคลอื่น
จุดแข็งของหลักสูตร
หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต (ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารยุคดิจิทัล) แตกต่างจากหลักสูตรศิลปศาสตร์ที่มีอยู่ในขณะนี้ เพราะไม่เพียงมุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีความรู้ด้านภาษาอังกฤษเพียงอย่างเดียว โดยขาดความรู้และทักษะการทำงานที่หลากหลาย เพราะเป็นข้อจำกัดในการทำงานในโลกยุคปัจจุบัน ซึ่งต้องการบุคลาการที่มีความสามารถในการประยุกต์ใช้ภาษาได้อย่างหลากหลาย โดยเฉพาะงานด้านธุรกิจดิจิทัลและเทคโนโลยีดิจิทัลซึ่งกำลังขยายตัวเป็นอย่างมากในขณะนี้
โดยการที่หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต (ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารยุคดิจิทัล) ได้จัดการศึกษาโดยให้ผู้เรียนมีความรู้ด้านภาษาอังกฤษในระดับดี และมีทักษะการใช้ภาษาอังกฤษในบริบทที่หลากหลาย ควบคู่ไปกับการเพิ่มพูนความรู้ด้านธุรกิจดิจิทัลและเทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงการพัฒนาทักษะปฏิบัติที่จัดขึ้นเป็นประจำและการพัฒนาภาษาอาเซียนอีก 1 ภาษา จะทำให้บัณฑิตที่จบจากหลักสูตรฯ เป็นบัณฑิตที่มีศักยภาพในการทำงานสูง สามารถทำงานด้านการสื่อสารองค์กรระดับนานาชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถทำงานได้หลากหลายประเภท และสามารถทำงานในภาคอุตสาหกรรมได้อย่างมีความรู้และความเข้าใจ ทำให้มีโอกาสในการทำงานมากกว่านักศึกษาที่มีความรู้ด้านภาษาเพียงอย่างเดียว
อาชีพที่สามารถประกอบได้หลังสำเร็จการศึกษา
1. เจ้าหน้าที่วิเทศสัมพันธ์ องค์กรระหว่างประเทศ/ภาคอุตสาหกรรม/หน่วยงานราชการ
2. เลขานุการ องค์กรระหว่างประเทศ/ภาคอุตสาหกรรม/หน่วยงานราชการ
3. เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ องค์กรระหว่างประเทศ/ภาคอุตสาหกรรม/หน่วยงานราชการ
4. ผู้ประกอบการที่ต้องใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร
5. อาชีพที่ต้องการผู้ใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารได้
6. อาชีพด้านการแปล และการล่าม
|